การรายงานของสื่อ ของ การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

เดือนสิงหาคม เนชั่นทีวีลงข่าวยอมรับว่ามีผู้สื่อข่าวของตนปกปิดสังกัดและแอบอ้างว่ามาจากช่องอื่นจริง และกองบรรณาธิการเรียกตักเตือนแล้ว แต่ก็อ้างว่าที่นักข่าวกระทำเช่นนั้นเพราะกลัวเกิดอันตรายจากผู้ชุมนุม[338] ต่อมาจึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคชื่อ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว แต่เนชั่นออกแถลงการณ์อ้างว่าจะทำให้บริษัทเหล่านั้นเสียหาย ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับการนำเสนอของเนชั่น[339] ปลายเดือนกันยายน สำนักข่าวรอยเตอส์และไฟแนนเชียลไทมส์ลงข่าวกระแสแฮชแท็ก #RepublicofThailand ทางทวิตเตอร์[340]

สัญญาณจากซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, อัลญะซีเราะฮ์อิงกลิช, เอ็นเอชเคเวิลด์ และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นที่นำเสนอการชุมนุมในประเทศไทยถูกห้ามออกอากาศทางทรูวิชั่นส์ และแอปพลิเคชันทรูไอดี[341]

หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงแก้ไขข่าวว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม รายงานผิดว่าผู้ประท้วงรบกวนระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่แท้จริงแล้ว กอร.ฉ. สั่งปิดรถไฟฟ้า[342] และวันเดียวกัน แฮชแท็ก #แบนช่อง3 ก็ติดเทรนต์ทวิตเตอร์ถึงอันดับที่ 2 เนื่องจากฝ่ายข่าว ช่อง 3 เอชดี ได้นำคลิปที่มีคนบางกลุ่มทำออกมาเพื่อปกป้องตำรวจมาออกอากาศในรายการเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ โดยไม่ได้นำเสนอคลิปที่ตำรวจกระทำรุนแรงต่อผู้ประท้วง ทำให้ผู้ชมไม่พอใจเป็นจำนวนมาก[343]

31 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีลงข่าวเพื่อแก้ไขข่าวเท็จที่บิดเบือนคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า พระมหากษัตริย์ไทยมิได้กระทำผิด[344]

ในเดือนพฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ลงบทวิเคราะห์ว่ามีข่าวลือรัฐประหารในไทยอีกครั้ง ส่วนสื่อต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีจับประเด็นการพำนักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[345] สื่อในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเคารพนับถือไปจนถึงแทบลอยด์ต่างให้ความสนใจกับข่าวการประท้วง หลายเจ้าตั้งคำถามถึงพระจริยวัตรและพระราชทรัพย์ เช่น ดิอีโคโนมิสต์ ลงว่า พระองค์ต้องการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ เดอะไทมส์ พาดหัวว่า พระองค์ทรงเป็นของขวัญของนักสาธารณรัฐนิยม[346]